โดยรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ระบุในปี 2022 ว่ามีจำนวนผู้ลี้ภัยโดยประมาณ 32.5 ล้านคนทั่วโลก แต่ทราบหรือไม่ว่าผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาอย่างไรบ้าง และในบริบทของสากลโลกให้คำนิยามเรื่องผู้ลี้ภัยไว้อย่างไร
เพียงแค่เหตุการณ์การรัฐประหารสถานการณ์การสู้รบในพม่าตั้งแต่ปี 2021 ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนโดยประมาณ 1,330,591 โดยส่วนมากจะลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินเดีย บังคลาเทศและไทย และในทุกวันนี้จำนวนผู้ลี้ภัยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น
การ์ตูนสิทธิมนุษยชนตอนที่ 5 “ผู้ลี้ภัย”
ผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งประเด็นที่มีหลักจารีตประเพณีสากลระหว่างประเทศรับรองให้สิทธิผู้ลี้ภัยนี้ต้องถูกรับรองตามหลักจารีตสากลแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายรองรับในประเทศนั้น ๆ ก็ตาม ทุกประเทศจะต้องไม่ส่งคนเหล่านี้กลับประเทศ หากนำไปสู่ภัยอันตรายหากส่งผลถึงชีวิตและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในทุก ๆ วันนี้ จากสถานการณ์ความไม่สงบทางสงครามในหลายประเทศ เชื่อหรือไม่ว่าพวกเราทุกคนอาจเคยเดินผ่านผู้ลี้ภัยมาแล้วในชีวิตประจำวัน โดยที่ทุกคนอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าเค้าเหล่านั้นคือ “ผู้ลี้ภัย” นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาร่วมทำความเข้าใจผู้ลี้ภัยเพื่อให้พวกเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจเพื่อนมนุษย์กันผ่านการ์ตูนสิทธิมนุษยชนในตอนที่ 5 ผู้ลี้ภัย
“ที่มาของคำว่าผู้ลี้ภัย”
คำว่าผู้ลี้ภัยโดยตามประวัติศาสตร์มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Refugie ในปี 1685 ถูกใช้ครั้งแรกโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลุ่มแรกๆหลังจากการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาน็องต์ (The Edict of Nantes) และในช่วงสงครามโลก มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากเกิดขึ้นมาจากภัยสงคราม ความขัดแย้งทางการเมืองและชาติพันธุ์ รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากร
“อนุสัญญาผู้ลี้ภัย 1951” และ “พิธีสารเลือกรับ 1967”
ในบริบทสากลโลกอนุสัญญาผู้ลี้ภัย 1951 ในปัจจุบันได้ถือกลายเป็นหลักจารีตประเพณีสากลที่ทุกประเทศล้วนต้องปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและห้ามส่งกลับหากมีภัยอันตราย ในตอนแรกอนุสัญญาผู้ลี้ภัยถูกออกแบบโดยมีข้อจำกัดเฉพาะบุคคลที่ลี้ภัยตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 1951 และถูกจำกัดในโซนยุโรป ต่อมาจึงได้ออกพิธีสารเลือกรับในปี 1967 ในการขยายขอบเขตและยกเลิกข้อจำกัดจากบริบทยุโรปสู่ผู้ลี้ภัยทั่วโลก
“มองมิติผู้ลี้ภัย ผ่านอาเซียน”
แม้ว่าอนุสัญญาผู้ลี้ภัยจะเป็นอนุสัญญาที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและยอมรับเป็นหลักจารีตสากลนั้น แต่ประเทศในอาเซียนนั้นมีเพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่ลงนามได้แก่ ประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์
ประเทศไทยถึงแม้จะเป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยมากที่สุดประเทศหนึ่ง ยกตัวอย่างตั้งแต่เหตุการณ์เขมรแดง สงครามเวียดนามหรือแม้แต่ปัญหาความไม่สงบในพม่า รัฐบาลไทยไม่ว่าในสมัยใดก็ไม่มีเจตนาในการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้เลย
“UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”
UNHCR United Nations High Commissioner for Refugees หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นองค์กรระดับสากลที่ถูกแต่งตั้งโดยผ่านที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่าน Resolution 319 (IV) เมื่อปี 1949 โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลก นอกจาก UNHCR แล้วยังมีองค์กรด้านสิทธิฯ รวมถึงบุคคลทั่วไปมากมายที่ยังคงให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม
มีคำนิยามที่เกี่ยวข้องผู้ลี้ภัยมากมายทั้ง คนไร้รัฐ (stateless person) คนผลัดถิ่น (internally displaced person / IDP) ผู้แสวงหาผู้ลี้ภัย (Asylum-seeker) ผู้ลี้ภัย (Refugee) การตั้งถิ่นฐานใหม่ (Resettlement) คำนิยามเหล่านี้แม้จะดูมีความหมายใกล้เคียงกันแต่ก็มีความแตกต่างกันในเชิงบริบทพอสมควร หากเรามีการเข้าถึงคำนิยามที่ถูกต้องจะทำให้สามารถเข้าใจถึงบริบทของสถานะที่คนเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่
ผู้ลี้ภัย คือ บุคคลที่เดินทางลี้ภัยหลบหนีออกจากประเทศบ้านเกิด เนื่องจากภัยประหัตประหาร ภัยสงคราม การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมือง
อนุสัญญาผู้ลี้ภัย 1951 ได้ถือกลายเป็นหลักจารีตประเพณีที่แม้จะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาก็จำเป็นต้องพึงปฏิบัติตาม โดยหลักการพื้นฐานนี้เรียกว่า Non-Refoulment
ในประเทศอาเซียนมีเพียงแค่สองประเทศที่ลงนามในอนุสัญญานี้คือ ประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์